คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไร?

อยากรู้ต้องอ่าน …

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เผยผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี พ.ศ. 2551 ซึ่งปีนี้มีคำถามพิเศษเกี่ยวกับการใช้งานสังคมออนไลน์

จากการสำรวจตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 2551 มีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เนคเทค และเว็บไซต์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 14,809 คน โดย 40% ตอบแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์เดลินิวส์ (www.dailynews.co.th)

ผลการสำรวจสรุปว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 57.6% ชาย 42.4% อยู่ระหว่างช่วงอายุ 20-29 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

แต่ที่น่าจับตามอง คือ ผลสำรวจปีนี้พบว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่นิยมเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจากที่ทำงานเพิ่มสูงขึ้น จากปีที่แล้ว 38.6% เป็น 44.9% ขณะที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านก็มีปริมาณลดลงจาก 47.9% ในปีที่แล้วเหลือ 44.8%  และการใช้งานในร้านอินเทอร์เน็ตก็มีปริมาณลดลงจาก 7.8% ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 2.4%

ซึ่งการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเอดีเอสแอล หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) มีปริมาณสูงถึง 43.5% สวนทางกับการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน ไดอัล-อัพ ซึ่งมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องล่าสุดเหลือ 10.3% จาก 14.3% ในปีที่แล้ว และที่น่าจับตามองมากที่สุด คือการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างมากจาก 2.8% ในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 7.1% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำมากที่สุดบนอินเทอร์เน็ตยังเป็นการค้นหาข้อมูล 31.4% อ่านอีเมล 23.0% และติดตามข่าวสาร 10.3% เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปีที่แล้ว โดยช่วงเวลาที่มีปริมาณการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ 20.01- 24.00 น. คิดเป็น 29.3%

ขณะที่ปัญหาสำคัญบนโลกอินเทอร์เน็ตยังครองแชมป์ด้วยไวรัส 64.4% แหล่งยั่วยุทางเพศ 60.6% เพิ่มจาก 42.6% ในปีที่แล้ว และการสื่อสารช้า 56.2% โดยประเด็นที่เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเป็นลำดับต้น ๆ คือ การโจมตีจากไวรัสและการรักษาความมั่นคงของเครือข่าย 40% การกระจายความทั่วถึง 33.4% และการป้องกันสื่อลามกอนาจารบนอินเทอร์เน็ต 28.8%

ย้อนกลับมาเรื่องการกระจายความทั่วถึง หรือการแพร่กระจายการใช้งานอินเทอร์เน็ต ผลสำรวจเรื่องนี้ในปี พ.ศ. 2550 ของประเทศกลุ่ม  อาเซียน พบว่า ไทยมีอัตราการแพร่กระจายของ การใช้งานอินเทอร์เน็ตต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย (59.0%) และเวียดนาม (23.4%) ซึ่งไทยมีอัตราการแพร่กระจายการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 20.3% มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด 13.4 ล้านคน

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ การสั่งซื้อหนังสือยังมีปริมาณสูงที่สุด 36.4% รองลงมาเป็น การสั่งจองบริการต่าง ๆ 30.7%

จากคำถามเกี่ยวกับการใช้งานสังคมออน ไลน์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 69.7% มีบล็อก/ไดอารีออนไลน์ เป็นของตนเอง โดยไฮไฟว์เป็นเว็บไซต์สังคมออนไลน์ยอดนิยมคิดเป็น 47.5% รองลงมาเป็นวิกิพีเดีย และยูทูบ  ผู้ใช้ส่วนใหญ่เข้าใช้งาน 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ และมองว่าการมีสังคมออนไลน์เป็นผลดีถึง 79.3% เพราะใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ 57.2% ใช้แสดงความคิดเห็น 28.1% และทำให้มีคนรู้จักเพิ่ม 10.6%

แม้สังคมออนไลน์จะมีประโยชน์ แต่ผู้ใช้ 66.8% เห็นควรให้มีการกำกับดูแล โดย 72.7% มองว่าเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน และ 17.7% มองว่าเพื่อความสงบของสังคม ขณะที่ผู้ใช้ที่ตอบไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องกำกับดูแล จำนวน 85.4% ระบุเป็นการปิดกั้นเสรีภาพ และ 13.2% มองว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

รู้หรือยังว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไร.

Credits : http://www.rssthai.com/reader.php?t=it&r=12534

Leave a comment